ที่เที่ยวจังหวัดราชบุรี

ท่องเที่ยวภาคกลางเรื่องฮิต No comments

อำเภอเมือง

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ตั้งอยู่ริมถนนวรเดช ตำบลหน้าเมือง ใกล้กับหอนาฬิการิมแม่น้ำแม่กลอง อาคารพิพิธภัณฑ์เคยใช้เป็นศาลากลางจังหวัดมาก่อน สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อปี พ. ศ. ๒๔๖๕ และได้รับการบูรณะเพื่อจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในปี พ. ศ. ๒๔๓๑ จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับราชบุรีในทุกด้าน อาทิ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ชาติพันธุ์วิทยา ธรณีวิทยา ศิลปะพื้นบ้าน เครื่องมือเครื่องใช้ในการจับสัตว์น้ำ วัฒนธรรมความเป็นอยู่ของกลุ่มชนต่าง ๆ ในจังหวัดราชบุรี เช่น ลาวโซ่ง กะเหรี่ยงและไท-ยวน รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ในจังหวัด โบราณวัตถุที่โดดเด่นนอกจากพระแสงดาบราชศัสตราประจำมณฑลราชบุรีแล้ว ยังมี พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี ศิลปะขอมแบบบายน เป็น ๑ ใน ๕ องค์ที่ขุดพบในประเทศไทยซึ่งมีสภาพสมบูรณ์งดงามที่สุด พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๙. ๐๐– ๑๖. ๐๐ น. ปิดวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ค่าเข้าชม ชาวไทย ๑๐ บาท ( เด็กเข้าชมฟรี) ชาวต่างประเทศ ๓๐ บาท สอบถามรายละเอียด โทร. ๐ ๓๒๓๒ ๑๕๑๓ โทรสาร ๐ ๓๒๓๒ ๗๒๓๕

 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

วัดมหาธาตุวรวิหาร หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดหน้าพระธาตุ หรือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งอยู่ถนนเขางู ตำบลหน้าเมือง ในเขตเทศบาลเมืองราชบุรี วัดนี้สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ – ๑๖ ไล่เลี่ยกับการสร้างเมืองราชบุรีเก่า ต่อมาได้มีการสร้างปราสาทศิลปะเขมรหรือลพบุรีซ้อนทับ ราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เพื่อเป็นศูนย์กลางของเมือง ตามความเชื่อเรื่องคติจักรวาลของเขมร ต่อมาปราสาทที่สร้างขึ้นอาจจะหักพังลง จึงมีการสร้างปรางค์ใหม่ต้นสมัยอยุธยา ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐–๒๑ ดังปรากฎรูปแบบสถาปัตยกรรมปัจจุบันซ้อนทับ ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ ได้แก่ วิหารหลวง ประดิษฐานพระมงคลบุรี พระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๘ ศอก ๑ คืบ ศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น พระพักตร์สุโขทัย พระองค์ยาว พระชาณุสั้น ( ตัวยาวเข่าสั้น) หันหน้าสู่ทิศตะวันออก ด้านหลังสร้างพระหันหลังให้กันอีกองค์หนึ่ง หันหน้าสู่ทิศตะวันตก หมายความถึง อาราธนาให้ช่วยระวังภัยพิบัติหน้าหลัง เรียกพระรักษาเมือง ตามความเชื่อของคนสมัยอยุธยา ด้านหน้าวิหารมีกำแพงแก้วก่อด้วยศิลาแลง

ปรางค์ องค์พระปรางค์มีความสูง ๒๔ เมตร ปรางค์ประธานและปรางค์บริวารทิศใต้ ทิศตะวันตก ทิศเหนือตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ส่วนทางทิศตะวันออกมีมุขยื่นออกมา มีบันไดขึ้น ฐาน เรือนธาตุและส่วนยอดประดับด้วยลายปูนปั้น ภายในองค์ปรางค์ประธานมีคูหาเชื่อมถึงกัน ผนังส่วนบนเขียนภาพอดีตพระพุทธเจ้าในซุ้มเรือนแก้วเป็นแถวเรียงต่อกัน ตอนล่างเป็นพุทธประวัติ สันนิษฐานว่าเขียนพร้อมกับการสร้างองค์ปรางค์และซ่อมแซมพร้อมกับองค์ปรางค์ในเวลาต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒ บริเวณฐานระเบียงมีทางเดินได้รอบ วิหารคตรอบลานพระปรางค์ มีพระพุทธรูปศิลาสมัยทวารวดี สมัยลพบุรีและสมัยอยุธยาประดิษฐานอยู่โดยรอบ ด้านหน้าพระปรางค์มีอาคารประดิษฐานพระพุทธรูปไสยาสน์ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น สร้างในสมัยอยุธยา มีความยาว ๑๒๗ คืบ ๙ นิ้ว และที่วัดนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์จัดแสดงโอ่ง ไห แบบต่างๆ

การเดินทาง ใช้เส้นทางเดียวกับทางไปพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี แล้วเลี้ยวซ้ายตรงไปประมาณ ๒๐๐ เมตร สอบถาม รายละเอียด โทร . ๐ ๓๒๓๒ ๑๕๙๗, ๐ ๓๒๓๒ ๖๖๖๙

 วัดมหาธาตุวรวิหาร

 

เมืองโบราณบ้านคูบัว ตั้งอยู่ที่ตำบลคูบัว เป็นโบราณสถานที่ขุดค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีหลายอย่างซึ่งชี้ให้เห็นว่า ดินแดนราชบุรีแห่งนี้ เคยเป็นเมืองท่าที่เจริญรุ่งเรืองในยุคทวารวดี สถาปัตยกรรมในเมืองโบราณคูบัวได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปะจากช่างสมัยราชวงศ์คุปตะ ประเทศอินเดีย และมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า พุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองในประเทศไทยมามากกว่า ๑ , ๐๐๐ ปี ส่วนโบราณวัตถุสำคัญต่าง ๆ ที่ค้นพบโดยเฉพาะเศียรพระพุทธรูปสมัยโบราณ เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี และบางส่วนเก็บรักษาไว้ที่วัดโขลงสุวรรณคีรี เมืองโบราณบ้านคูบัวพบหลักฐานกระจัดกระจายทั่วบริเวณหลายแหล่ง อาทิ โบราณสถานวัดโขลง ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าวัดโขลงสุวรรณคีรี ห่างจากตัวเมืองราชบุรีไปทางทิศใต้ตามถนนท้าวอู่ทองประมาณ ๕ กิโลเมตร เป็นโบราณสถานที่มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขยื่นออกมาทางด้านทิศเหนือและด้านใต้ด้านละ ๓ มุข ทางด้านตะวันออกมีมุขยื่นออกมาเป็นบันไดทางขึ้น ฐานชั้นล่างสุดเป็นฐานสี่เหลี่ยมก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูน มีมุขยื่นออกมาจากฐานด้านข้างด้านละ ๓ มุม ฐานชั้นที่สองเป็นฐานบัวโค้ง ถัดขึ้นไปเป็นอิฐก่อเป็นช่องซุ้มรูปสี่เหลี่ยม

ประดับปูนปั้นรูปบัวฟันยักษ์ ชั้นถัดไปเป็นฐานหน้ากระดานรองรับซุ้มสี่เหลี่ยมผืนผ้า เหนือขึ้นไปเป็นเสาอิงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ระหว่างเสาเจาะเป็นซุ้มจระนำยอดแหลมสลับกับเสาอิงไปตลอดผนัง ส่วนบนของฐานโบราณสถานเป็นลานประทักษิณ ในการขุดแต่งได้พบปูนปั้นรูปเศียรเทวดา คนแคระ เชิงเทียนสำริดและลวดลายปูนปั้นอื่นๆ

โบราณสถานหมายเลข ๘ ตั้งอยู่ด้านหลังโรงเรียนวัดคูบัว มีลักษณะเป็นฐานเจดีย์ มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างยาวด้านละ ๒๐ . ๘๐ เมตร ความสูง ๕. ๔๐ เมตร ฐานชั้นล่างเป็นฐานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ก่ออิฐสอปูน ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวโค้งรองรับหน้ากระดานมีช่องซุ้มสี่เหลี่ยมโดยรอบ ด้านบนเป็นลานประทักษิณ ชั้นที่สองเป็นฐานขององค์เจดีย์ มีฐานบัวโค้งรองรับหน้ากระดานซึ่งมีซุ้มสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็กรององค์เจดีย์ มีร่องรอยของปูนฉาบ ที่ฐานบัวโค้งแต่ไม่ปรากฏร่องรอยการประดับประติมากรรมปูนปั้น

 เมืองโบราณบ้านคูบัว

 อำเภอวัดเพลง

วัดเพลง เป็นอำเภอเล็กๆ อยู่ติดกับอำเภอเมือง เดิมมีชื่อว่า “ บ้านเพลง” ในสมัยก่อนอยู่ห่างไกลเส้นทางคมนาคม มีบ้านเรือนอยู่เป็นหย่อมๆ แต่มีนักร้องร้องเพลงพวงมาลัยกันเสมอ มีพ่อเพลงแม่เพลง ร้องเพลงแก้กัน ร้องสู้กันได้สามวันสามคืน หรือ เจ็ดวันเจ็ดคืน โดยไม่แพ้ชนะกัน จึงได้ชื่อว่าบ้านเพลง ปัจจุบันยังคงบรรยากาศสงบ ร่มเย็น ตามวิถีชนบทบ้านสวนริมคลองเอาไว้ได้อย่างน่าประทับใจ บางครั้งหากมีโอกาสดีๆอาจพบเห็นชาวสวนเก็บมะพร้าวร้อยพวงยาวลากตามร่องสวน กรรมวิธีขนส่งพืชผลแบบพื้นบ้านที่หาชมได้ยาก แวะไปชมโบสถ์คริสต์วัดพระหฤทัยอายุ ๑๐๐ ปี ( วัดพระหฤทัย โทร . ๐ ๙๙๑๓ ๙๓๘๓, ๐ ๓๒๓๙ ๙๒๗๗) เด่นสง่างดงามตามสไตล์ตะวันตก

การเดินทาง จากถนนมนตรีสุริยวงศ์ เลียบแม่น้ำแม่กลองไปจนสุดถนนสาย ๓๐๘๘ เลียบแม่น้ำอ้อมผ่านสวนมะพร้าวที่ร่มครึ้ม

 

อำเภอดำเนินสะดวก

ตลาดน้ำดำเนินสะดวก หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนามตลาดน้ำคลองต้นเข็ม เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากของราชบุรี อยู่ห่างจากกรุงเทพฯราว ๘๐ กิโลเมตร ในราวปี พ . ศ. ๒๔๐๙ รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองดำเนินสะดวกระยะทางกว่า ๓๒ กิโลเมตร เชื่อมแม่น้ำแม่กลองที่บางนกแขวกกับแม่น้ำท่าจีนที่ประตูน้ำบางยาง และมีคลองซอยเล็ก ๆ มากมาย ทำให้ชาวบ้านในราชบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร สามารถติดต่อกันทางน้ำได้สะดวก

ตลาดน้ำดำเนินสะดวก เปิดตัวสู่สายตาชาวโลกในฐานะแหล่งท่องเที่ยวครั้งแรกเมื่อปี พ . ศ. ๒๕๑๐ ในภาพของตลาดลอยน้ำที่คราคร่ำไปด้วยเรือพายลำย่อม บรรทุกสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ พ่อค้าแม่ค้าสวมเสื้อผ้าโทนสีเข้มแบบชาวสวน ใส่หมวกงอบใบลาน พายเรือเร่ขายแลกเปลี่ยนสินค้าในยามที่เส้นทางคมนาคมทางน้ำเป็นหัวใจหลัก ตลาดน้ำดำเนินสะดวกเริ่มค้าขายตั้งแต่เช้าตรู่ไปจนถึงช่วงประมาณ ๑๒. ๐๐ น. ส่วนตลาดน้ำวัดปราสาทสิทธิ์ซึ่งเป็นตลาดน้ำที่ยังคงวิถีชีวิตเดิม ๆ อยู่มากจะเริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ และจะวายตั้งแต่ก่อน ๐๘. ๐๐ น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวอำเภอดำเนินสะดวก โทร. ๐ ๓๒๒๔ ๑๐๒๓, ๐ ๓๒๓๔ ๖๑๖๑

 

อำเภอบ้านโป่ง

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง ตั้งอยู่ภายในวัดม่วง ตำบลบ้านม่วง ริมแม่น้ำแม่กลอง วัดม่วงเป็นวัดเก่าแก่ ตามประวัติบอกไว้ในคัมภีร์ใบลานเขียนด้วยอักษรมอญว่า มีอายุอยู่ในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ในช่วงเวลานั้น ชุมชนบ้านม่วงและบริเวณสองฝั่งลุ่มแม่น้ำแม่กลอง มีกลุ่มชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายมอญ อยู่ร่วมกันกับกลุ่มชนอื่น เช่น ไทย จีน ลาว ญวน เขมรและกะเหรี่ยง มีการผสมผสานแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกัน เกิดเป็นเอกลักษณ์ของคนในท้องถิ่นและความที่ชุมชนบ้านม่วงมีวิถีชีวิตผูกผันอยู่กับประเพณีและความเชื่อดั่งเดิม ทำให้ชุมชนแห่งนี้เป็นขุมทรัพย์ทางความรู้ด้านมอญศึกษาแก่ผู้สนใจมากมาย พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นแหล่งค้นคว้ารวบรวมประวัติความเป็นมา วิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่นชาวมอญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แบ่งการจัดแสดงออกเป็นห้องต่างๆ สามารถเข้าใจเรื่องราวได้ง่ายโดยเริ่มจาก ห้องโถง มอญในตำนาน มอญในทางประวัติศาสตร์ ภาษามอญและจารึกภาษามอญ ประเพณีวัฒนธรรมมอญ มอญอพยพ มอญในไทยและผู้นำทางวัฒนธรรม มีการจัดแสดงโบราณวัตถุ คัมภีร์ใบลานที่เขียนด้วยอักษรมอญมีอายุกว่า ๓๐๐ ปี เสื้อผ้าข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่บ่งบอกถึงมรดกทางภูมิปัญญาท้องถิ่นที่น่าสนใจ ให้ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของลุ่มน้ำแม่กลองในอดีต ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรมของชุมชนบ้านม่วงกับชุมชนในเขตอำเภอบ้านโป่งและอำเภอโพธาราม

นอกจากนั้นภายในวัดยังมีศูนย์มอญศึกษา เปิดสอนภาษามอญให้กับบุคคลทั่วไปทุกวันพุธและวันพฤหัสบดี พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วงเปิดให้เข้าชมในวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา ๐๙ . ๐๐– ๑๖. ๐๐ น. โดยไม่เสียเข้าชม ( หากสนใจเข้าชมวันจันทร์-ศุกร์ กรุณาติดต่อล่วงหน้าก่อนเข้าชม และ เข้าชมเป็นหมู่คณะควรติดต่อล่วงหน้าหรือทำหนังสือเรียนเจ้าอาวาสวัดม่วง) สอบถามรายละเอียด โทร. ๐ ๓๒๓๗ ๒๕๔๘, ๐ ๖๐๐๔ ๐๗๘๖, ๐ ๙๘๘๕ ๘๘๑๗ หรือ www.monstudies.org พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วงขอเชิญชวนผู้เข้าชมที่เดินทางมาเป็นหมู่คณะตั้งแต่ ๑๐ คนขึ้นไปลองลิ้มชิมรสอาหารคาวหวานพื้นบ้านแบบมอญ เช่น แกงบอน น้ำปลายำ แกงมะตาด ในราคาเป็นกันเอง ติดต่อล่วงหน้าที่คุณสอางค์ พรหมอินทร์ บริเวณวัดยัง มีศูนย์ทอผ้าพื้นบ้าน จำหน่ายผ้าทอมือ ผ้าขาวม้าฝีมือชาวบ้าน เปิดทุกวัน เวลา ๐๙ . ๐๐- ๑๘. ๐๐ น. โทร. ๐ ๖๑๑๑ ๑๓๖๗

การเดินทาง รถยนต์ จากตัวเมืองราชบุรีไปตามทางหลวงหมายเลข ๔ แล้วแยกเข้าอำเภอบ้านโป่ง ไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๐๘๙ ( โคกสูง- เบิกไพร) ( ทางไปถ้ำเขาช่องพราน) จากนั้นข้ามสะพานแม่น้ำแม่กลองตรงไปประมาณ ๗ กิโลเมตรและจากปากทางแยกเข้าไปอีก ๒. ๕ กิโลเมตร ก็จะถึงพิพิธภัณฑ์

รถโดยสารประจำทาง จากกรุงเทพฯ นั่งรถสายกรุงเทพฯ – กาญจนบุรีมาลงที่อำเภอบ้านโป่ง แล้วนั่งรถโดยสารประจำทางสายบ้านโป่ง- โพธาราม มาลงที่หน้าวัดม่วง

 

อำเภอโพธาราม

พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน ตั้งอยู่ที่วัดขนอน ตำบลสร้อยฟ้า ริมแม่น้ำแม่กลอง อยู่ห่างจากตัวอำเภอโพธารามประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ลักษณะเป็นเรือนไทย จัดแสดงนิทรรศการหนังใหญ่ ประวัติความเป็นมาของหนังใหญ่และกรรมวิธีการแกะสลักตัวหนังใหญ่ มีตัวหนังจำนวน ๓๑๓ ตัวที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ส่วนใหญ่เป็นตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ แบ่งเป็นชุดหนุมานถวายแหวน ชุดสหัสสกุมาร และเผากรุงลงกา ชุดศึกอินทรชิตครั้งที่ ๑ เป็นโครงการตามพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงเห็นคุณค่าในการแสดงและศิลปะหนังใหญ่ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นการละเล่นชั้นสูง ตัวหนังมีการแกะสลักลวดลาย ใช้วงมโหรีปี่พาทย์เป็นเครื่องดนตรีประกอบ พร้อมกับลีลาของคนเชิดประกอบบทพาทย์และบท

ร้อง ทรงมีพระราชดำริให้ทางวัดช่วยกันอนุรักษ์ตัวหนังใหญ่ ซึ่งท่านพระครูศรัทธาสุนทร ( หลวงปู่กล่อม) อดีตเจ้าอาวาสวัดขนอนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นผู้สร้างขื้น ด้วยท่านเป็นผู้มีความรู้ทางด้านช่างและประกอบกับในขณะนั้นมีตัวหนังอยู่บ้างที่วัด ท่านจึงมีความคิดที่จะสร้างตัวหนังใหญ่ให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิมจึงได้ชักชวนครูอั๋งผู้เคยเป็นโขนคณะเจ้าเมืองราชบุรี ช่างจาดและช่างจ๊ะชาวราชบุรี และช่างพ่วงชาวบ้านโป่งมาช่วยกันสร้างตัวหนัง ชุดแรกคือ ชุดหนุมานถวายแหวน ต่อมาได้สร้างเพิ่มอีกรวมเก้าชุด นับเป็นสมบัติของวัดที่ได้ร่วมรักษาสืบทอดกันมา ทางวัดจึงได้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้น นับเป็นวัดเดียวที่มีมหรสพของวัด ตัวหนังและคณะหนังใหญ่ที่สมบูรณ์อยู่ในความอุปถัมภ์ของวัดและยังคงมีการจัดการแสดงหนังใหญ่สืบทอดต่อมาจนถึงทุกวันนี้ พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา ๐๘. ๐๐- ๑๗. ๐๐ น. ทางวัดได้จัดแสดงเชิดหนังใหญ่ทุกวันเสาร์เวลา ๑๐. ๐๐- ๑๑. ๐๐ น. เพียงรอบเดียว โดยนักเรียนจากโรงเรียนวัดขนอน ( สำหรับวันธรรมดาโปรดติดต่อล่วงหน้า โดยจะมีค่าใช้จ่ายรอบละ ๒, ๐๐๐ บาท) สอบถามรายละเอียดได้ที่ เจ้าอาวาสวัดขนอน โทร. ๐ ๓๒๒๓ ๓๓๘๖, ๐ ๑๗๕๓ ๑๒๓๐ โทรสาร ๐ ๓๒๓๕ ๔๙๗๙

การเดินทาง รถยนต์ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข ๔ ถนนเพชรเกษมผ่านนครปฐม สู่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี จากนั้นเลี้ยวขวาที่สี่แยกอำเภอบางแพ ไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๐๙๐ เข้าสู่อำเภอโพธาราม ข้ามสะพานแม่น้ำแม่กลอง แล้วเลี้ยวขวาไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข ๓๐๘๙ ประมาณ ๓ กิโลเมตร วัดขนอนอยู่ทางขวามือ รถโดยสารประจำทาง รถโดยสารออกจากสถานีขนส่งสายใต้ สายกรุงเทพฯ- โพธาราม มาลงที่ท่ารถโพธาราม แล้วจากท่ารถ นั่งรถสองแถวสายบ้านโป่ง- โพธารามมาลงที่หน้าวัดขนอน หรือใช้รถจักรยานยนต์รับจ้าง ใช้เวลาประมาณ ๕ นาที

 

อำเภอจอมบึง

  ถ้ำฤาษีเขางู ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขา ในบริเวณสวนสาธารณะเขางู ตำบลเกาะพลับพลา ลักษณะเป็นถ้ำหรือศาสนสถานที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา ภายในถ้ำพบพระพุทธรูปจำหลักติดผนังถ้ำ เป็นพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท ปางแสดงธรรมเทศนา ตามแบบพุทธศิลป์สมัยทวารวดี ( พุทธศตวรรษที่ ๑๑–๑๓) รู้จักกันทั่วไปว่า พระพุทธฉายถ้ำฤาษีเขางู ลักษณะพระพักตร์แบน พระขนงเป็นเส้นนูนโค้งต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเนตรโปน พระนาสิกแบน พระโอษฐ์หนา ขมวดพระเกศาใหญ่ มีรัศมีเป็นรูปดอกบัวตูม ระหว่างข้อพระบาทมีจารึกอักษรปัลลวะภาษาสันสกฤต อ่านว่า ปุญกรรมชระศรีสมาธิคุปตะ แปลว่า พระศรีสมาธิคุปตะเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยการทำบุญ นับเป็นร่องรอยศิลปะสมัยทวารวดีที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ภายในถ้ำยังมีพระพุทธรูปหินทรายศิลปะสมัยอยุธยาอีกหลายองค์ บริเวณถ้ำฤาษีเขางู มีสถานที่หลายแห่งที่น่าสนใจแวะเข้าไปชม อาทิ

รอยพระพุทธบาท ทำด้วยศิลาแลงประดิษฐานอยู่ในวิหาร ตั้งอยู่บนยอดเขางูสูงประมาณ ๑๒๘ เมตร ลักษณะเป็นซากอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่ออิฐถือปูน

ถ้ำฝาโถ ตั้งอยู่ใกล้สวนสาธารณะเขางู ห่างจากถ้ำฤาษีเขางูไปทางตะวันตกราว ๒๕๐ เมตร มีภาพสลักบนผนังทิศใต้ ได้แก่ ภาพพระพุทธรูปไสยาสน์ขนาดใหญ่ เหนือขึ้นไปเป็นภาพเทพชุมนุมและภาพปูนปั้นรูปต้นไม้ ด้านทิศเหนือเป็นภาพสลักพระสาวกสององค์ องค์ประกอบคล้ายที่ถ้ำจาม คือ เป็นภาพพระพุทธประวัติตอนปรินิพพาน มีงานนมัสการเป็นประจำทุกปี ในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ บริเวณเทือกเขางูนี้ยังมีถ้ำระฆัง และเขาพระบาท ซึ่งมีรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาและเป็นจุดชมวิวทิวทัศน์เทือกเขางู

การเดินทาง ห่างจากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๐๘๗ ( สายราชบุรี- จอมบึง- สวนผึ้ง) ห่างจากตัวเมืองราชบุรีไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ ๖ กิโลเมตร จะมีทางแยกเข้าไปยังถ้ำ

 

อำเภอสวนผึ้ง

น้ำตกเก้าชั้น หรือ เก้าโจน ( เก้ากระโจน) ตั้งอยู่ที่บ้านห้วยผาก หมู่ ๗ ตำบลผาผึ้ง เลยจากธารน้ำร้อนบ่อคลึงไปประมาณ ๑ กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดกลาง มีความสูง ๙ ชั้น ตกจากหน้าผาสูงกลางหุบเขา มีน้ำตลอดปี ปริมาณน้ำจะมากในชั้นบนๆ หินบริเวณน้ำตกเป็นหินแกรนิต แต่เดิมน้ำตกนี้รู้จักกันเฉพาะในกลุ่มชาวกะเหรี่ยง ต่อมาบริษัทต่างชาติเข้ามารับสัมปทานเหมืองแร่เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ต่อมาเมื่อหมดสัมปทาน ทางอำเภอและกลุ่มองค์กรท้องถิ่นจึงได้เข้ามาดูแลพื้นที่

การเดินไปชมน้ำตก จากลานจอดรถเดินเท้าต่อไปอีกประมาณ ๕๐๐ เมตร จะถึงบริเวณน้ำตกชั้นล่าง ซึ่งสามารถเดินเท้าขึ้นไปถึงชั้นสุดท้ายได้ระยะทางประมาณ ๒ กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ ๒ – ๓ ชั่วโมง ค่าเข้าชม รถยนต์ รถตู้ รถปิกอั๊พ คันละ ๓๐ บาท รถบัส ๑๐๐ บาท

 

กิ่งอำเภอบ้านคา

กิ่งอำเภอบ้านคาเป็นกิ่งอำเภอใหม่ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองราชบุรี มีพื้นที่ติดชายแดนไทย – พม่า มีความโดดเด่นในความเป็นแหล่งธรรมชาติที่สมบูรณ์และบริสุทธิ์ ท้าทายนักท่องเที่ยวผู้ลุ่มหลงในไพรกว้าง

น้ำตกห้วยสวนพลู ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี หมู่ ๔ ตำบลบ้านบึง เป็นน้ำตกที่มีสภาพธรรมชาติแวดล้อมของป่าที่สมบูรณ์และหลากหลายทางชีวภาพมากแห่งหนึ่ง มีการพบนกเงือกถึง ๕ ชนิดและนกป่าหายาก เช่น นกแซวสวรรค์สีขาวหางยาว รวมทั้งกล้วยไม้ป่ามากมาย ในช่วงฤดูร้อนเป็นแหล่งรวมของบรรดาผึ้งนับหมื่นตัว ควรพักแรมอย่างน้อย ๑ คืนเพื่อเที่ยวชมธรรมชาติได้ทั่ว

Leave a reply

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <s> <strike> <strong>

eXTReMe Tracker